รายละเอียดสมุนไพร
ชื่อสมุนไพร  พริกขี้หนู
ชื่อวิทยาศาสตร์  Capsicum annuum L.
ชื่อสามัญ  Bird pepper, Chili pepper, Cayenne Pepper, Tabasco pepper
ชื่อท้องถิ่น  ท้องถิ่น พริกแด้ พริกแต้ พริกนก พริกแจว พริกน้ำเมี่ยง (ภาคเหนือ), หมักเพ็ด (ภาคอีสาน), พริก พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า (ภาคกลาง),ดีปลีขี้นก พริกขี้นก (ภาคใต้), พริกมะต่อม (เชียงใหม่), ปะแกว (นครราชสีมา), มะระตี้ (สุรินทร์), ดีปลี (ปัตตานี), ครี (กะเหรี่ยง กำแพงเพชร), ลัวเจียะ (จีนแต้จิ๋ว), ล่าเจียว (จีนกลาง)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์  - ต้น จัดเป็นไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่มขนาดเล็ก ที่มีความสูงของต้นประมาณ 30-90 เซนติเมตร มีอายุประมาณ 1-3 ปี แตกกิ่งก้านสาขามาก กิ่งอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนเหนียว ดินร่วนระบายน้ำดี ในที่ร่มรำไรหรือกลางแจ้ง ไม่ทนต่อสภาพน้ำขัง มักขึ้นร่วมกับวัชพืชชนิดอื่น ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค
- ใบ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปกลมรี หรือรูปวงรี ปลายใบแหลม โคนใบเฉียงหรือสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบเป็นสีเขียวมันวาว ก้านใบยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร
- ดอกพริกขี้หนู ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ ช่อละประมาณ 2-3 ดอก มีกลีบดอกประมาณ 5-7 กลีบ กลีบดอกเป็นสีขาว สีเหลืองอ่อนอมเขียว หรือสีเขียวอ่อน เกสรเพศผู้จะมีอยู่ประมาณ 5 อัน โดยจะขึ้นสลับกับกลีบดอก ส่วนเกสรเพศเมียจะมีอยู่เพียง 1 อัน (อีกข้อมูลระบุว่า เกสรเพศเมียมี 2 อัน) และมีรังไข่ประมาณ 2-3 ห้อง
- ผล ผลมีลักษณะยาวรี ปลายแหลม ออกในลักษณะหัวลิ่มลง (แต่โดยปกติแล้วผลอ่อนมักชี้ขึ้น เมื่อแก่แล้วจะชี้ลง) ผลมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผลเป็นผลสดสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแดงหรือเป็นสีแดงปนสีน้ำตาล ลักษณะของผลมีผิวลื่น ภายในผลกลวงและมีแกนกลาง รอบ ๆ แกนจะมีเมล็ดเป็นสีเหลืองเกาะอยู่มาก เมล็ดมีลักษณะแบนเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนและมีรสเผ็ด เมล็ดมีขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตร
สรรพคุณทางยา  1. ผลสุกช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจากมีสาร capsaicin
2. ใช้แก้อาการปวดเมื่อยตามตัว ขับลมชื้นตามร่างกาย ใช้รักษาอาการปวดตามเอวและน่อง
3. ใช้รักษาอาการบวม ฟกช้ำดำเขียว ปวดตามข้อ เคล็ดขัดยอก ช่วยทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
4. ใช้เป็นยาแก้พิษตะขาบและแมงป่องกัด
5. ผลมีสรรพคุณช่วยรักษาโรคหิด กลากเกลื้อน
6. มีสารต้านแบคทีเรียและอนุมูลอิสระ ช่วยกระตุ้นทำให้เจริญอาหาร
7. ผลช่วยลดความโลหิตได้ เพราะทำให้หลอดเลือดอ่อนตัวและช่วยทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดเป็นไปได้ด้วยดี
8. รากมีสรรพคุณเป็นยาฟอกโลหิต
9. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ ปวดศีรษะเนื่องมาจากไข้หวัดหรือตัวร้อน เป็นยาแก้ไข้หวัด ลดน้ำมูก บรรเทาอาการไอ ช่วยขับเสมหะ ทำให้การหายใจสะดวกสบายยิ่งขึ้น
10. รากใช้ฝนกับมะนาวและเกลือ ใช้เป็นยากวาดคอ
การนำไปใช้ประโยชน์  - นิยมนำมาปรุงอาหาร มีรสเผ็ดและมีกลิ่นฉุนเผ็ดร้อนหรือนำมาเป็นเครื่องปรุงอาหารที่ช่วยชูรส เช่น ผัดกะเพรา ต้มยำ ลาบ และน้ำพริกต่างๆ ยอดและใบอ่อนนำมาประกอบอาหารได้อีกหลายเมนู เช่น แกงเลียง แกงอ่อม ทอดกับไข่
อ้างอิง  เมดไทย. (2563) พริกขี้หนู. สืบค้น 18 มีนาคม 2565, จาก https://medthai.com/พริกขี้หนู/
ไฟล์ >>ดาวน์โหลด<<
ย้อนกลับ